มุ่งมั่นและพัฒนาในผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า และเป็นหลักประกันที่มั่นคง พร้อมทั้งดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการที่ดี เพื่อสร้างคุณค่าและผลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
บริษัท จรัญประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลัก แบ่งได้เป็น 2 ส่วน ดังต่อไปนี้
1. ด้านการรับประกันภัย
ธุรกิจหลักของบริษัท คือ รับประกันวินาศภัยทุกประเภท โดยแบ่งเป็น
- การรับประกันภัยโดยตรง เป็นการรับประกันภัย ผ่านตัวแทน นายหน้าบุคคลธรรมดานายหน้า นิติบุคคล สถาบันการเงิน และลูกค้าโดยตรง
- การรับประกันภัยต่อจากบริษัทประกันวินาศภัยอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงในการรับประกันภัย
บริษัทดำเนินธุรกิจรับประกันวินาศภัยตามประเภทการรับประกันภัยหลัก 4 ประเภท ดังต่อไปนี้
1.1 การประกันอัคคีภัย เป็นการรับประกันภัยสิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมฐานราก) ที่อยู่อาศัย อาคาร บ้าน ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว อาคารพณิชย์ โรงงาน และ/หรือ ทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง สต๊อกสินค้า เฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ โดยสามารถแบ่งการรับประกันภัยได้เป็น ดังนี้
- การประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย เป็นการให้ความคุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า (รวมถึงความเสียหายต่อเครื่องไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกิดจากการลัดวงจรจากฟ้าผ่า) ภัยระเบิด ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน ภัยเนื่องจากน้ำ อันเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากการปล่อย การรั่วไหล หรือการล้นออกมาของน้ำ หรือไอน้ำ (และคุ้มครองภัยธรรมชาติ 4 ภัย ได้แก่ ภัยจากลมพายุ ภัยจากน้ำท่วม ภัยจากแผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด หรือคลื่นใต้น้ำ หรือ สึนามิ และภัยจากลูกเห็บ บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ทุกภัยรวมกันแล้วไม่เกิน 20,000 บาท / ปี) และยังมีการขยายความคุ้มครองค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราว (ตามเงื่อนไขการประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย)
- การประกันอัคคีภัย เป็นการให้ความคุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า แรงระเบิดของแก๊สที่ใช้สำหรับทำแสงสว่าง หรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น ส่วนความเสียหายเนื่องจากภัยเพิ่มพิเศษ เช่น ภัยระเบิด ภัยเนื่องจากน้ำ (ไม่รวมน้ำท่วม) ภัยลมพายุ ภัยต่อเครื่องไฟฟ้า ฯลฯ ต้องระบุไว้ให้ชัดเจนในกรมธรรม์ประกันภัยจึงจะได้รับความคุ้มครอง
1.2 การประกันภัยทางทะเลและลอจิสติกส์ เป็นการรับประกันภัยขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและภายในประเทศ โดยทางเรือเดินทะเล และการขนส่งทางบก โดยรถยนต์ รถไฟ ตลอดจนการขนส่งสินค้าทางเครื่องบิน ซึ่งจะให้ความคุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสินค้าที่เอาประกันภัยในระหว่างการขนส่งที่นำเข้าในประเทศและส่งออกต่างประเทศที่เกิดความเสียหายจากภัยทางทะเล ความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือฟ้าผ่า และยังให้ความคุ้มครองพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม เช่นการจลาจล การนัดหยุดงาน เป็นต้น โดยสามารถแยกกรมธรรม์เป็นประเภทได้ ดังนี้
1. กรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง (ทางเรือ ทางอากาศ ทางบก และทางรถไฟ)
2. กรมธรรม์ประกันภัยสินค้าที่ขนส่งภายในประเทศ
- กรมธรรม์แบบคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิด
- กรมธรรม์แบบระบุภัย
3. กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่ง
1.3 การประกันภัยเบ็ดเตล็ด เป็นการประกันภัยประเภทหนึ่งของการประกันวินาศภัย ซึ่งให้ความคุ้มครองต่อความสูญเสีย และความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากความคุ้มครองของการประกันอัคคีภัย การประกันภัยรถยนต์ และการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง โดยแบ่งประเภทการรับประกันภัยต่างๆ ได้แก่
- ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน | - ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (เนื่องจากภัยกรมธรรม์ความเสี่ยงภัยฯ) | |
- ประกันภัยอุปัทวเหตุ คุ้มครองสิทธิการเช่า | - ประกันภัยสรรพภัยธุรกิจขนาดย่อม | |
- ประกันการก่อสร้างทุกชนิด | - ประกันภัยเครื่องมือเครื่องใช้ของผู้รับเหมา | |
- ประกันภัยเครื่องจักรหยุดชะงัก | - ประกันภัยหม้อกำเนิดไอน้ำและถังอัดความดัน | |
- ประกันภัยเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ | - ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล / กลุ่ม | |
- ประกันภัย PA 200 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) | - ประกันภัยอุบัติเหตุเดินทาง | |
- ประกันภัยการเดินทางไปต่างประเทศบุคคล / กลุ่ม | - ประกันภัยอุบัติเหตุเดินทางสำหรับธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ | |
- ประกันภัยโรคมะเร็ง | - ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก | |
- ประกันภัยสำหรับเงิน | - ประกันภัยโจรกรรม | |
- ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก สินค้าที่ไม่ปลอดภัย | - ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเกิดจากการประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการควบคุม | |
- ประกันภัยสำหรับกระจก | - ประกันภัยคุ้มครองผู้พักในหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก | |
- ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายการขนส่งวัตถุอันตรายทางบก | - ประกันภัยข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ |
|
- ประกันภัยซื่อสัตย์ | - ประกันภัยร้านทอง | |
- ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด | - ประกันภัยผู้เล่นกอล์ฟ | |
- ประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยก่อการร้าย | - ประกันภัยอิสรภาพหลังกระทำความผิด | |
- ประกันภัยอิสรภาพก่อนกระทำความผิด | - ประกันภัยสำหรับผู้โดยสารเรือโดยสารรับจ้าง | |
- ประกันภัยป้ายโฆษณา | - ประกันภัยคุ้มครองการว่างงาน | |
- ประกันภัยเงินทดแทนแรงงาน | - ประกันภัยกรรมการและเจ้าหน้าที่ระดับบริหารและการใช้คืนให้แก่บริษัท | |
- ประกันภัยเพื่อการใช้เรือกลเดินทะเลเฉพาะเขตที่ใช้ในกิจการพิเศษประเภทเจ็ตสกีเพื่อเช่า | - ประกันภัยอุบัติเหตุประเภทผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารไม่ระบุชื่อ | |
- ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายที่เกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการตรวจสอบตามกฎหมายในฐานะผู้ตรวจสอบอาคาร | - ประกันภัยการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ | |
- ประกันภัยสุขภาพเฉพาะโรคแบบส่วนบุคคล / แบบกลุ่ม |
1.4 การประกันภัยรถยนต์ เป็นการรับประกันความเสี่ยงภัยของการใช้รถยนต์ โดยให้ความคุ้มครอง การสูญหาย และความเสียหายของตัวรถ อุปกรณ์ประจำรถถูกลักขโมย ความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่และผู้โดยสารในรถ ความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลภายนอก รวมทั้งความคุ้มครองพิเศษอื่นๆ เช่น การประกันตัวผู้ขับขี่ในคดีอาญา เป็นต้น โดยสามารถแบ่งการรับประกันภัยได้เป็น 2 แบบ ดังนี้
- การรับประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หมายถึง การรับประกันภัยที่เจ้าของรถแต่ละคันต้องจัดให้มีประกันภัยตามความคุ้มครองที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ได้แก่ การประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “การประกันภัย พ.ร.บ.” เป็นการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. (เว้นแต่ รถที่ พ.ร.บ.ฯ ระบุยกเว้นไว้ เช่น รถของสำนักพระราชวัง รถสำหรับเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ รถของกระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น) มิเช่นนั้นจะมีโทษปรับ ไม่เกิน 10,000 บาท
- การรับประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ หมายถึง การรับประกันภัยที่เจ้าของรถแต่ละคันตัดสินใจทำประกันภัยรถยนต์ของตนด้วยความสมัครใจ เพื่อคุ้มครองความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวรถ และ/หรือความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อบุคคลภายนอก สามารถแบ่งความคุ้มครองออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
ประเภท ที่ 1: ให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ทั้งความเสียหายต่อชีวิตร่างกายหรืออนามัยของบุคคลภายนอก และความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก รวมไปถึงการคุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์ที่เอาประกันภัย จากอุบัติเหตุต่างๆ ตลอดจนการสูญหายหรือไฟไหม้ ไม่ว่าจะเป็นการเสียหายทั้งคันหรือบางส่วน
ประเภท ที่ 2: ให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ทั้งความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก และความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก รวมไปถึงการคุ้มครองต่อตัวรถยนต์ที่เอาประกันภัยจากการสูญหายหรือไฟไหม้
ประเภทที่ 3: ให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ทั้งความเสียหายต่อชีวิตร่างกายหรืออนามัยของบุคคลภายนอก และความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
ประเภทที่ 4: ให้ความคุ้มครองเฉพาะความรับผิดตามกฎหมายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอกเท่านั้น
ประเภทที่ 5: ให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ทั้งความเสียหายต่อชีวิตร่างกายหรืออนามัยของบุคคลภายนอก และความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก รวมไปถึงรถยนต์ที่เอาประกันภัย อุปกรณ์เครื่องตกแต่ง หรือสิ่งที่ติดประจำอยู่กับตัวรถยนต์ตามที่ระบุไว้ในตาราง อันมีสาเหตุมาจากการชนกับยานพาหนะทางบกและต้องมีคู่กรณีเท่านั้น
2. ด้านการลงทุน
บริษัทประกันวินาศภัยสามารถนำเงินสดคงเหลือไปลงทุนหรือแสวงหาผลตอบแทน เพื่อเป็นรายได้สำคัญอีกทางหนึ่งให้แก่บริษัท โดยการเลือกลงทุนต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ และมีสภาพคล่องในการเปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุนเป็นเงินสดสำหรับส่วนที่บริษัทต้องใช้ในอนาคตอย่างเพียงพอ พร้อมทั้งต้องปฏิบัติตามประเภท สัดส่วน และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ภายใต้ข้อกำหนดว่าด้วยการลงทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 การให้กู้ยืมเงิน การลงทุนในหลักทรัพย์ ตั๋วแลกเงิน พันธบัตร หุ้นสามัญ หุ้นกู้ รวมทั้งการฝากเงินในธนาคาร